
- ระพีพัฒน์ สวนศิลป์พงศ์
- กรรมการผู้จัดการ
- บริษัท อัลทิเมท ซัคเซส แอ๊ดไวส์รี่ จำกัด
- ที่ปรึกษาทางการเงิน
ความสำคัญของงบการเงินกับงานบริหาร คุณ ๆ คงได้ตระหนักว่า การที่เป็นผู้ประกอบการและผู้บริหารที่ดูงบการเงินไม่เป็นและไม่เข้าใจงบการเงินนั้น ทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง เพราะไม่มีตัวเลขทางบัญชีหรือการเงินใด ๆ อ้างอิง หรือบอกได้ว่า การดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ หรือไม่อย่างไร และกิจกรรมที่จะทำในนอนาคตจะส่งผลอย่างไรต่อกิจการ
ครั้งนี้ เราจะมาคุยกันเพิ่มเติมแบบเฉพาะเจาะจงลงไปที่การดูผลการดำเนินงานและงบกำไรขาดทุนกันครับ ซึ่งผมเชื่อว่า งบกำไรขาดทุนเป็นงบการเงินที่ผู้ประกอบการและผู้บริหารน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด เพราะงบการเงินตัวนี้แสดงถึงยอดขาย และกำไรของกิจการ ซึ่งเป็นส่วนที่ทุกท่านสนใจมากที่สุด แต่ดังที่ผมเคยกล่าวในฉบับที่แล้วว่า ในงบกำไรขาดทุนนั้นมีอะไร ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายนอกเหนือจากบรรทัดยอดขายและกำไร หวังว่ายังจำได้นะครับ ผมอยากให้คุณ ๆ นำงบกำไรขาดทุน บริษัทของคุณขึ้นมาดูพร้อม ๆ กับการอ่านบทความของผมในวันนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผมหวังว่าคุณจะเข้าใจและใช้ ประโยชน์งบกำไรขาดทุนของคุณเองมากขึ้นไม่มากก็น้อย
ตัวอย่างและการวิเคราะห์งบการเงิน
- งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Common Size) บริษัท เป็นเอก จำกัด
- สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 – 2559
2557 | 2558 | 2559 | แนวโน้ม (ร้อยละ) | |||||
บาท | ร้อยละ | บาท | ร้อยละ | บาท | ร้อยละ | 2557 – 2558 | 2558 – 2559 | |
รายได้จากการขาย | 250,000,000 | 100.00% | 375,000,000 | 100.00% | 450,000,000 | 100.00% | 50.00% | 20.00% |
ต้นทุนขาย | 162,500,000 | 65.00% | 255,000,000 | 68.00% | 297,000,000 | 66.00% | 56.92% | 16.47% |
กำไรขั้นต้น | 87,500,000 | 35.00% | 120,000,000 | 32.00% | 153,000,000 | 34.00% | 37.14% | 27.50% |
ค่าใช้จ่าย: | ||||||||
ค่าใช้จ่ายในการขาย | 12,500,000 | 5.00% | 18,750,000 | 5.00% | 22,500,000 | 5.00% | 50.00% | 20.00% |
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร | 30,000,000 | 12.00% | 46,875,000 | 12.50% | 63,000,000 | 14.00% | 56.25% | 34.40% |
ค่าใช้จ่ายอื่น | 1,250,000 | 0.50% | 2,625,000 | 0.70% | 4,500,000 | 1.00% | 110.00% | 71.43% |
รวมค่าใช้จ่าย | 43,750,000 | 17.50% | 68,250,000 | 18.20% | 90,000,000 | 20.00% | 56.00% | 31.87% |
กำไรจากการดำเนินงาน | 43,750,000 | 17.50% | 51,750,000 | 13.80% | 63,000,000 | 14.00% | 18.29% | 21.74% |
รายได้อื่น | 150,000 | 0.06% | 10,000 | 0.00% | 200,000 | 0.04% | -93.33% | 1,900.00% |
กำไร (ขาดทุน) ก่อนค่าใช่จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้นิติบุคคล | 43,900,000 | 17.56% | 51,760,000 | 13.80% | 63,200,000 | 14.04% | 17.90% | 22.10% |
ค่าใช้จ่ายทางการเงิน | 12,200,000 | 4.88% | 11,934,447 | 3.18% | 11,569,989 | 2.57% | -2.18% | -3.05% |
กำไร (ขาดทุน) ก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคล | 31,700,000 | 12.68% | 39,825,553 | 10.62% | 51,630,011 | 11.47% | 25.63% | 29.64% |
ภาษีเงินได้นิติบุคคล | 9,510,000 | 3.80% | 11,947,666 | 3.19% | 15,489,003 | 3.44% | 25.63% | 29.64% |
กำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี | 22,190,000 | 8.88% | 27,877,887 | 7.43% | 36,141,008 | 8.03% | 25.63% | 29.64% |
หน้าตาโดยทั่ว ๆ ของงบกำไรขาดทุนส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะประกอบด้วย
- ยอดขาย (ปกติ คือ ยอดขายสินค้าหรือบริการของธุรกิจหลักของกิจการ)
- (หัก) ต้นทุนขายหรือต้นทุนสินค้า (หากเป็นธุรกิจบริการ ส่วนนี้อาจเรียกต้นทุนบริการ)
- (เท่ากับ) กำไรขั้นต้น
- (หัก) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
- (เท่ากับ) กำไรจากการดำเนินงาน
- (บวก) รายได้อื่น (คือรายได้ที่มิได้มาจากธุรกิจหลัก เช่น ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการขายสินทรัพย์ เป็นต้น งบการเงินส่วนใหญ่มักวางรายได้อื่นไว้บรรทัดถัดจากยอดขาย แต่หากวางไว้แบบนั้นจะทำให้ยาก ต่อการวิเคราะห์ และบิดเบือนโครงสร้างต้นทุนที่พิจารณา เนื่องจากต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายใน การขายและบริหาร ควรพิจารณาเป็นสัดส่วนต่อยอดขายที่มาจากธุรกิจหลักของกิจการ ไม่ใช่รายได้ซึ่งรวมรายได้อื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเข้าไปด้วย)
- (เท่ากับ) กำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้นิติบุคคล
- (หัก) ค่าใช้จ่ายทางการเงิน (ค่าธรรมเนียมธนาคารและดอกเบี้ยเงินกู้)
- (เท่ากับ) กำไรก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
- (หัก) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- (เท่ากับ) กำไรสุทธิ
ในงบการเงินที่ผมให้ตัวอย่างมานี้ จะมีส่วนของการวิเคราะห์ติดมาด้วย ซึ่งถ้าดูในงบการเงินบริษัทของคุณเอง จะเห็นแต่ ตัวเลขเป็นบาทเท่านั้น จะไม่มีตัวเลขในส่วนที่เป็นร้อยละเลย นอกจากนี้ ผมได้ให้ผลประกอบการมา 3 ปี 2557 – 2559 เนื่องจากการดูตัวและงบกำไรขาดทุนเพียงปีเดียวมีประโยชน์น้อยมาก เพราะจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เคยทำได้ ในอดีต และเพื่อให้เห็นภาพของความสามารถในการทำกำไรของกิจการ และอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายการต่าง ๆ ซึ่งส่วนที่เป็นร้อยละนี้มีสองส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง เป็นร้อยละในแต่ละปี เรียกว่า Common Size ซึ่งเป็นการหาร้อยละของตัวเลข ทุกบรรทัดเปรียบเทียบกับยอดขาย เพื่อดูว่าแต่ละตัวเป็นสัดส่วนร้อยละเท่าไร ต่อยอดขายในปีนั้น ๆ (บรรทัดยอดขายจึง เท่ากับ 100%) เช่น ในปี 2557 กำไรสุทธิ เป็นสัดส่วน 8.88% ต่อยอดขาย (หรือเรียกว่า Net Profit Margin) เป็นต้น
ส่วนที่สอง เป็นแนวโน้มเพื่อหาอัตราร้อยละ ของการเปลี่ยนแปลงจากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่ง เช่น ยอดขาย ปี 2558 เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2557 เป็นต้น สาเหตุที่ต้องมี การวิเคราะห์โดยใช้ความสัมพันธ์ร้อยละเข้ามาช่วย เพื่อตัดภาพลวงตาของจำนวน เงินออกไปนั่นเอง
ทีนี้ ลองมาดูกันครับว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากการดูงบกำไรขาดทุนในรูปแบบนี้ได้อย่างไร
- คุณสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย ของปี 2558 และปี 2559 จากปีก่อนหน้าเท่ากับ 50% และ 20% ตามลำดับ เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิของปี 2558 และปี 2559 จากปีก่อนหน้าเท่ากับ 63% และ 29.64% ตามลำดับ และคุณสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในบรรทัดอื่น ๆ ในลักษณะการวิเคราะห์แบบเดียวกัน ซึ่งข้อมูลแนวโน้มแบบนี้จะบอกถึงการเติบโตหรือถดถอยที่เกิดขึ้นในอดีตได้
- การเติบโตแบบมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้น เช่น ยอดขายเพิ่มขึ้นในปี 2558, ปี 2559 และ ปี 2560 จากปีก่อนหน้า เท่ากับ 7%, 5% และ 9% ตามลำดับ (ร้อยละเพิ่มขึ้นตลอด) หากเป็นเช่นนี้แล้ว กิจการน่าจะมีแนวโน้ม การเติบโตของยอดขายต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของทั้งปัจจุยภายในและ ภายนอกกิจการอย่างประทันหัน) ในทางตรงข้าม หากเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุน หรือ ค่าใช้จ่ายในลักษณะ นี้แล้ว ก็อาจจะคาดเดาได้ว่ากำไรจะลดลงอย่างมากหรืออาจขาดทุน ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะกิจการ ไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและค่าใช้จ่าย
- การเติบโตแบบชะลอตัว เช่น ยอดรายได้อื่นเพิ่มขึ้นในปี 2558, ปี 2559 และ ปี 2560 จากปีก่อนหน้า เท่ากับ 12%, 6% และ 1% ตามลำดับ (ร้อยละลดลงตลอด) หากเป็นเช่นนี้ กิจการน่าจะมีแนวโน้ม รายได้อื่นลดลงในอนาคต ในทางตรงข้าม และหากเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุน หรือค่าใช้จ่าย ในลักษณะนี้ แล้วก็อาจจะคาดเดาได้ว่ากำไรที่ลดลงหรือขาดทุนกำลังจะมีสภาพที่ดีขึ้นเพราะ สามารถควบคุมการเพิ่ม ขึ้นของต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น
- ในทางกลับกัน การถดถอยแบบมีอัตราเร่ง และการถดถอยแบบชะลอตัว ก็สามารถอธิบายได้ ในทางตรงข้าม
- อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขาย ของปี 2557, 2558 และปี 2559 เท่ากับ 88%, 7.43% และ 8.03% ตามลำดับ ความหมายก็คือ ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของกิจการในปี 2558 ลดลงจากปี 2557 และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีก่อนหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขายของปี 2557, 2558 และปี 2559 เท่ากับ 12.00%, 12.50% และ 14% ความหมายก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการบริหารของกิจการ ในปี 2558 และปี 2559 ลดลงเล็กน้อยในปีก่อนหน้าตามลำดับ ดังนั้นการดูร้อยละของแต่ละบรรทัดในแต่ละปี เป็น การดูความสามารถในการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย และความสามารถในการทำกำไรในแต่ละปี โดยสามารถ นำข้อมูลเหล่านี้ไปหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไป จากตัวอย่างข้างต้น ผลขอใช้เป็น ตัวอย่างในการวิเคราะห์และนำไปใช้ดังนี้
- แม้ในปี 2558 กิจการจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 63% แต่ความสามารถในการทำกำไรสุทธิ หรือกำไรสุทธิต่อยอดขายกลับลดลงจาก 8.88% ในปีก่อนหน้า เป็น 7.43% (จะเห็นได้ว่าหากเราดูแต่ ตัวเลขที่เป็นบาทอย่างเดียว เราอาจเข้าใจว่าผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะยอดขายเพิ่ม กำไรเพิ่ม แต่จริง ๆ แล้ว ความสามารถในการทำกำไรกลับลดลง)
- ทำไมความสามารถในการทำกำไรในปี 2558 จึงลดลง เราสามารถไล่กลับขึ้นไปดูร้อยละในปี 2558 เทียบ กับปี 2557 จะพบว่า ในปี 2558 ต้นทุนขายต่อยอดขายเพิ่มเป็น 68% จาก 65% ในปีก่อนหน้า (เท่ากับปี 2558 กำไรขั้นต้นต่อยอดขายหายไปถึง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) สิ่งที่คุณต้องทำคือลองตั้งสมมติฐาน ดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งสมมติฐานอาจเป็นสิ่งเหล่านี้ เช่น มีการปรับราคาขายลดลงหรือไม่ ต้นทุนวัตถุดิบ หรือต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการผลิตตัวใดมีต่อหน่วยราคา สูงขึ้นหรือไม่ แล้วจึงหาแนวทางใน การปรับปรุงแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคต
- อีกสองสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรในปี 2558 ลดลงคือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารและ ค่าใช้จ่ายอื่น สิ่งที่คุณต้องทำคือ กลับไปดูไส้ในว่าร่วมกับฝ่ายบัญชีว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในหมวดนี้มี อะไรบ้างที่เพิ่มขึ้น และจึงหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคต
- อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของคุณมิใช่เพียงการแก้ไขปัญหาเท่านั้น คุณยังมีหน้าที่ค้นหาว่าในปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่คุณบริหารจัดการได้ดี เช่น ในปี 2559 ต้นทุนขายของกิจการลดลงจาก 68% ในปีก่อนหน้า เป็น 66% คุณควรต้องค้นหาว่า อะไรหรือกิจกรรมอะไรที่คุณทำได้ดี จึงมีผลทำให้ต้นทุนส่วนนี้มีสัดส่วน ลดลงเมื่อเทียบกับยอดขาย เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาในปีต่อ ๆ ไป
ผมหวังว่า คุณจะเห็นแล้วว่า ตัวเลขในงบกำไรขาดทุน สามารถช่วยคุณในการบริหารจัดการได้ แต่ตัวเลขที่มาจากงบการเงิน ตรง ๆ นั้นถือว่าเป็นข้อมูลดิบทางการเงิน หากจะใช้ประโยชน์ในการบริหาร ต้องผ่านกระบวนการบางอย่าง ดังตัวอย่างข้างต้น เพื่อให้เห็นภาพที่ไม่บิดเบือน หน้าที่ของผู้ประกอบการหรือผู้บริหารก็คือ ต้องตีความจากตัวเลขให้ออกและหาสาเหตุว่าอะไรที่ ทำให้ตัวเลขเป็นเช่นนั้น ทั้งในทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนแก้ไข และพัฒนาในอนาคตครับ